งาน QA QC QS ต่างกันอย่างไร

  • 16 Mar 2025
  • 89561
หางาน,สมัครงาน,งาน,งาน QA QC QS ต่างกันอย่างไร

 

ใครที่สนใจงานด้าน QA QC QS และอยากทราบว่า

หน้าที่ ลักษณะงานเป็นยังไง ? คุณสมบัติคนทำงานต้องเป็นแบบไหน ? 3 ตำแหน่งนี้ต่างกันอย่างไร ?

เพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมตัวก่อนสมัครงาน แบบเข้าใจง่ายๆ JOBBKK มีคำตอบให้คุณครับ

 

 

 

QA (Quality Assurance) หรือการประกันคุณภาพ ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ นักวางแผนเพื่อการผลิตสินค้าหรือบริการที่ได้มาตรฐาน มีหน้าที่ในการวางแผนล่วงหน้าให้ขั้นตอนการผลิตสินค้าหรือบริการเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาต่างๆ และนำไปสู่สินค้าหรือบริการที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าสูงสุด

และเมื่อสินค้าหรือบริการผ่านการ QC (Quality Control) แล้ว ก็ต้องนำสินค้าหรือบริการมาตรวจสอบอีกครั้ง หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น QA ต้องนำมาวิเคราะห์พร้อมวางแผน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก และกำหนดแนวทางในการป้องกันการเกิดปัญหาในระยะยาวด้วย 

 

ส่วนคุณสมบัติด้านวุฒิการศึกษา หลายองค์กรจะกำหนดวุฒิป.ตรี ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้นๆ และส่วนใหญ่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน ISO ซึ่งบุคคลนั้นอาจต้องมีประสบการณ์ในสายงาน 1 - 2 ปี หรือผ่านการฝึกอบรมพร้อมมีใบรับรองอย่างเป็นทางการครับ

และคุณสมบัติสำคัญที่ต้องใช้ในงาน QA หรือที่เรียกว่า Soft Skills ซึ่งทุกองค์กรล้วนต้องการก็ต้องเป็นคนช่างสังเกต ,มีความละเอียด รอบคอบ ที่สำคัญต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี เพราะต่อให้เก่งด้านการวางแผนมากแค่ไหน แต่ถ้าเข้าใจอยู่คนเดียว สื่อสารให้คนอื่นเข้าใจด้วยไม่ได้ ก็พังนะครับ 

 

คลิกดูประกาศงาน QA 

 

 

QC (Quality Control) หรือการควบคุมคุณภาพ ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นนักปฏิบัติการเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่ตรงตามแผน มีหน้าที่ตรวจสอบสินค้าหรือบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ QA ได้วางแผนและกำหนดไว้ หากมีสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นไปตามาตรฐานต้องคัดแยกออกมาอย่างรวดเร็ว และการตรวจสอบนั้นก็ต้องดำเนินการตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการผลิต ซึ่งมีอยู่ 5 ขั้นตอน คือ

 

1. ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ (Raw Material) ต้องตรวจสอบวัตถุดิบทั้งหมดที่นำมาใช้เพื่อการผลิต โดยวัตถุดิบทุกชิ้นจะต้องมี Certificate of Analysis ซึ่งต้องทราบข้อมูลของผู้นำเข้าและผู้ขายอย่างชัดเจน จากนั้นก็ต้องทำการสุ่มตรวจวัตถุดิบด้วย

 

2. ตรวจสอบคุณภาพบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ต้องตรงตามมาตรฐาน โดยการตรวจสอบตามขั้นตอนเหมือนกับการตรวจสอบวัตถุดิบ และจะต้องสุ่มตรวจบรรจุภัณฑ์ตาม AQL (เปอร์เซ็นต์สูงสุดของผลิตภัณฑ์ที่เสียในกระบวนการผลิตที่ยอมรับได้) ที่กำหนดไว้

 

3. ตรวจสอบคุณภาพเนื้อผลิตภัณฑ์ (Bulk) แบ่งการทดสอบเป็น 2 ลักษณะ คือ

3.1 การทดสอบทางกายภาพและทางเคมีของเนื้อผลิตภัณฑ์ (Physical Chemical Testing) ได้แก่ ลักษณะภายนอก (Appearance) ,สี (Color) ,กลิ่น (Odor) ,ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ (Viscosity)

3.2  การทดสอบเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อก่อโรคต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด (Microbiology Testing) โดยการส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐาน ISO17025

 

4. ตรวจสอบคุณภาพระหว่างการผลิต โดยจะมีตำแหน่ง QC Line ที่ต้องตรวจสอบไลน์การผลิต เช่น การสุ่มตรวจก่อนเริ่มไลน์ 10 ชิ้นแรก และสุ่มตรวจทุกชั่วโมง รวมถึงการตรวจสอบการติดสติกเกอร์ การใส่กล่อง ให้ตรงตามมาตรฐาน

 

5. ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Finish Good) โดยการสุ่มตรวจว่าตรงตามมาตรฐานหรือไม่ พร้อมเก็บ Retain Sample ซึ่งเป็นการเก็บผลิตภัณฑ์สำหรับนำมาตรวจสอบภายหลังอีกครั้ง เช่น ผลิตภัณฑ์เป็นครีมทาผิว ก็จะตรวจสอบคุณภาพของครีมในช่วงเวลาที่อยู่ในกำหนดวันหมดอายุ

 

ด้านวุฒิการศึกษา ส่วนใหญ่จะเปิดรับตั้งแต่วุฒิปวส. ขึ้นไป ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้นๆ และจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน ISO มีความรู้ด้านเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในงาน จากประสบการณ์ในสายงาน 1 - 2 ปี หรือจากการฝึกอบรม

ส่วนคุณสมบัติที่เป็น Soft Skills ที่หลายองค์กรนำมาพิจารณารับเข้าทำงาน ก็ต้องเป็นบุคคลที่ ช่างสังเกต ,มีความละเอียด รอบคอบ ,มีไหวพริบ ,มีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด และมีทักษะการสื่อสารที่ดีเช่นกันครับ

 

คลิกดูประกาศงาน QC

 

 

 

QS (Quantity Surveyor) หรือผู้ตรวจสอบปริมาณงาน มีหน้าที่ถอดปริมาณงานจากแบบที่ได้รับ สำรวจราคาเพื่อคำนวณงานสำหรับนำมาประเมินราคาของโครงการ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นนักพยากรณ์ ปริมาณงานและราคาของการดำเนินโครงการว่าจะเป็นอย่างไร และเมื่อพยากรณ์แล้วก็ต้องควบคุมงบประมาณ จัดทำเอกสารสำคัญด้านการจ่าย รวมถึงเอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

 

ด้านคุณสมบัติ ส่วนใหญ่จะเปิดรับตั้งแต่วุฒิป.ตรี ขึ้นไป ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ เช่นวิศวกรรม ซึ่งอาจต้องมีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) ,สถาปัตยกรรม หรือวิทยาศาสตร์การอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ QS ต้องเป็นผู้พยากรณ์ทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ บุคคลที่ทำงานด้านนี้จึงต้องมีประสบการณ์ เพราะการดำเนินงานจะต้องตรงตามที่พยากรณ์มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ ส่วน Soft Skills ของ QS ก็ต้องช่างสังเกต ,ละเอียด รอบคอบ พร้อมมีทักษะการสื่อสารที่ดีเช่นเดียวกับ QA และ QC เลยครับ

นอกจากนี้ หลายองค์กรก็มีการกำหนดในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ เพราะอาจต้องร่วมงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีทั้งที่เป็นลูกค้าและเพื่อนร่วมงานก็เป็นได้ครับ หรือแม้แต่ประสบการณ์ทางด้าน QC ด้วยนะครับ เนื่องจากงาน QC จะทราบถึงความเป็นไปได้ของปริมาณงานที่สำเร็จและตรงตามมาตรฐาน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการประเมินงบประมาณของโครงการได้นั่นเองครับ

 

คลิกดูประกาศงาน QS

 

 

QA QC QS ต่างกันอย่างไร ? เห็นได้อย่างชัดเจนเลยครับ

QA คือ นักวางแผน

QC คือ นักปฏิบัติการ

QS คือ นักพยากรณ์

 

อย่างไรก็ตาม 3 ตำแหน่งนี้ ก็ต้องมีการวางแผนของตนเองด้วย เพื่อให้ผลการดำเนินงานในหน้าที่ของตนเป็นไปตามเป้าหมายที่องค์กรต้องการได้มากที่สุด

ที่สำคัญ การเป็นนักวางแผน นักปฏิบัติการ หรือนักพยากรณ์ ที่เก่งและทุกองค์กรต้องการ ต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ ซึ่งทักษะนี้ HR ก็จะทดสอบคุณตอนสัมภาษณ์ด้วยนะครับ

 

เตรียมตัวให้พร้อม แล้วคุณจะไม่พลาดแน่นอนครับ

 

มีโอกาสได้งานทันที เพียงสมัครเรซูเม่วันนี้ ฟรี คลิก >> https://jobbkk.com/go/jWldX

หางานด่วน เปิดรับกว่า 153,168 อัตรา คลิก >> https://jobbkk.com/go/YtvVO

 

JOBBKK.COM © Copyright All Right Reserved

Jobbkk has only one website. In no case, we have an affiliate, agent or appointee. Please do not rely on any other website, email, telephone, SMS or other contacting channel. If it is a case, we will prosecute under a lawsuit in the upmost as allowed. DBD

Top